เทคนิคการตกปลาช่อน 2 (ด้วยเหยื่อผิวน้ำ)

สวัสดีครับ เพื่อน ๆ สมาชิก ชาว เอส.แอล.ฟิชชิ่งทุกท่าน จากที่ผมเองได้เคยเขียนเรื่องราวและวิธีการตกปลาช่อนให้หลาย ๆ คนได้อ่านกันไปแล้ว วันนี้ผมจะมาย้ำ หลักและวิธีในการตกปลาช่อน โดยการใช้เหยื่อผิวน้ำกันอีกสักหน่อยนะครับ

โดยปกติแล้วปลาช่อนนั้น กินเหยื่อ จำพวก ปลาขนาดเล็ก ๆ  แมลงบางชนิด กบ หรือ เขียด ฯลฯ ซึ่งเหยื่อปลอมที่ออกมาวางขายกันในท้องตลาดนั้นก็จะทำรูปร่างให้มีลักษณะคล้าย ๆ กับเหยื่อตามธรรมชาติของปลาช่อน แต่ทำไมเหยื่อบางตัวปลาช่อนชอบกัด แต่บางตัวซื้อมาตั้งนานแล้ว เอาออกมาจากกล่องอุปกรณ์ตกปลาที่ไร กลับบ้านไปได้แห้วกลับบ้านเต็มกล่องเพราะเหยื่อตัวนั้นทุกที ในที่สุดเหยื่อตัวนั้นก็จะกลายเป็นเหยื่อก้นกล่อง และไม่ได้นำออกมาใช้งานอีกเลย (น่าเสียดายจริง ๆ )

เหยื่อผิวน้ำ

เหยื่อผิวน้ำนั้นชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับว่าใช้งานอย่างไร นั้นก็คือการลากให้เหยื่อนั้น สร้างลักษณะท่าทาง(แอคชั่น) อยู่บนผิวน้ำทำให้ปลาเกิดความสนใจมากที่สุด การที่เราใช้เหยื่อปลอมในการตกปลานั้นสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเหยื่อตามธรรมชาติของปลาช่อนนั้นก็คือ เรื่องของแอคชั่นที่แตกต่าง อีกทั้งยังเรื่องของกลิ่น หรือแม้แต่รสของเหยื่อ สิ่งเหล่านี้ผู้คิดค้นอุปกรณ์ตกปลานั้นได้เพิ่มขีดความสามารถด้านอื่น เพื่อลดสิ่งที่ขาดไปเมื่อเราใช้เหยื่อปลอมในการตกปลา ที่เห็นได้อย่างชันเจนและคิดว่าหลาย ๆ ท่านเองก็คงเคยเห็น หรืออาจจะเคยใช้งานมาแล้วก็ได้ เช่น การติดใบพัดไว้กับเหยื่อ เพื่อสร้างเสียง สร้างการแตกตัวของน้ำทำให้ปลาเกิดความสนใจ และพุ่งเข้ากัดเหยื่อ การใช้พู่สีต่าง ๆ มาติดไว้กับเหยื่อ  หรือผูกติดกับตัวเบ็ด เพื่อสร้างแอคชั่นของเหยื่อและเรียกร้องความสนใจจากปลา การใช้วัสดุสะท้อนแสง แบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแสงวาววับ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้ปลากัดเหยื่อ

DSC_0517_S

เหยื่อรูปกบ

 

Rubber_FrogA

เหยื่อกบยาง

 

Frog 2

เหยื่อกบยางเล็กติดใบพัด

ซึ่งเหยื่อแต่ละแบบนั้นท่านนักตกปลาเองก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับสถานะการณ์ เช่นถ้าหากพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นบึงน้ำนิ่งมีหญ้าหรือสาหร่ายขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณโดยรอบพื้นที่มีหญ้าพื้นเป็นถนนดินแดง มีแอ่งน้ำเล็ก ๆ ก็ให้ท่านลองเอาเหยื่อกบลงไปสำรวจพื้นที่ดู เพราะว่าจากสภาพพื้นที่ที่เราเห็น เราสามารถคาดเดาได้ว่าเหยื่อของปลาช่อนนั้นจะต้องเป็นเหยื่อกบ หรือเขียด อย่างแน่นอน อย่างไรก็ต้องการสังเกตุพื้นที่ที่น่าจะเป็นที่ซ่อนตัวของปลานั้นยังคงเป็นสิ่งที่นักตกปลานั้นลืมไม่ได้ ถ้าหากคุณไปตกปลาโดยไม่ยอมสังเกตุอะไรเลยนั้น เปอร์เซ็นต์การได้ปลาและการพัฒนาตัวเองไปสู่นักตกปลานั้นย่อมเป็นได้ยากมากขึ้น เพราะว่าถ้าคุณเองสนใจแค่ว่าเอาเหยื่อลงน้ำเราจะเรียกว่าการตกปลาเลย ก็คงจะไม่ถูก การสังเกตุพื้นที่ การสำรวจ การวิเคราะห์พื้นที่นั้นจะช่วยให้คุณตกปลาได้ง่ายมากยิ่งขึ้น การตกปลาด้วยเหยื่อผิวน้ำนั้น นักตกปลาพยายามมองหาที่ซ่อนตัวของปลา และตีเหยื่อไปยังจุด ๆ นั้นซ้ำ ๆ เพื่อให้ปลาสนใจเหยื่อของเรานั้นเอง  แต่ถ้าหากคุณตีเหยื่อไปจุดนั้นจนเมื่อยแขนแล้วละก็ไม่มีอาการเลยว่าปลาจะเข้ามาชาร์จเหยื่อ การเปลี่ยนไปตีเหยื่อในทิศทางอื่น ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลก คุณก็เปลี่ยนทิศทางไปบ้างก็ได้  แต่ก็อย่าลืมกลับมาตี ณ จุด ๆ นั้นบ้าง

ในกรณีที่ คุณตีเหยื่อไปแล้วปลาไล่เหยื่อตามมาเห็น ๆ แต่ไม่ยอมกัดเหยื่อ ให้คุณลองตีเหยื่อไปตรงนั้น และลองเปลี่ยนความเร็ว ให้ช้าลง ปลาอาจจะเข้ากัดเหยื่อ หรือไม่ก็นิ่งไปเลย  คุณก็ลองตีไปจุดที่ปลาไล่เหยื่อและลองเปลี่ยนระดับความเร็ว ในการลากเหยื่อลองดูไปเรื่อย ๆ ถ้าปลายังไม่ยอมกินเหยื่อแล้วละก็ คุณอาจจะเปลี่ยนจุดตกปลาก็ได้  แต่คุณเองก็ต้องจำเอาไว้ว่า พื้นที่ตรงนี้มีปลาอยู่ 1 ตัวที่อาจจะกัดเหยื่อของคุณเข้าสักวัน….

เขียนโดย วัตร เอส.แอล.ฟิชชิ่ง

Leave a Reply